top of page
ค้นหา

♻️ เดนมาร์กเปิดโรงงาน 𝐞-𝐌𝐞𝐭𝐡𝐚𝐧𝐨𝐥 เชิงพาณิชย์แห่งแรกของโลก!

  • รูปภาพนักเขียน: Net Zero Techup
    Net Zero Techup
  • 11 นาทีที่ผ่านมา
  • ยาว 2 นาที

♻️ เดนมาร์กเปิดโรงงาน 𝐞-𝐌𝐞𝐭𝐡𝐚𝐧𝐨𝐥 เชิงพาณิชย์แห่งแรกของโลก!


ในช่วงหลายปีข้างหน้า ภาคการขนส่งหนัก เช่น การเดินเรือ การบินระยะไกล และอุตสาหกรรมเคมี จะต้องเร่งลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างจริงจัง หนึ่งในแนวทางสำคัญเพื่อก้าวสู่พลังงานสะอาด คือเทคโนโลยี Power-to-X ซึ่งสามารถเปลี่ยนพลังงานหมุนเวียนจากลมและแสงอาทิตย์ให้กลายเป็นเชื้อเพลิงสังเคราะห์ที่ยั่งยืน เช่น e-methanol ซึ่งมีศักยภาพสูงในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการขนส่งและอุตสาหกรรมที่ยากต่อการลดคาร์บอน (Hard-to-abate sectors)


🏭 โครงการ Kassø Power-to-X plant:


🔹️ เป็นโรงงานผลิต e-methanol เชิงพาณิชย์แห่งแรกของโลก ตั้งอยู่ที่เมือง Aabenraa ประเทศเดนมาร์ก พัฒนาโดยบริษัท European Energy ร่วมกับพันธมิตรจากญี่ปุ่น Mitsui & Co.


🔹️ โรงงานมีกำลังการผลิต e-methanol สูงถึง 42,000 ตันต่อปี โดยใช้พลังงานไฟฟ้าจาก Kassø Solar Park ขนาด 304 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นฟาร์มโซลาร์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปเหนือ และใช้เครื่อง Electrolyser ขนาด 52.5 เมกะวัตต์ จาก Siemens Energy เพื่อผลิตไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) ได้ประมาณ 6,000 ตันต่อปี


🔹️ ไฮโดรเจนจะถูกนำมาทำปฏิกิริยากับ biogenic CO₂ ประมาณ 45,000 ตันต่อปี ซึ่งได้จากโรงงานผลิตก๊าซชีวภาพใกล้เคียง เพื่อผลิต e-methanol ที่สะอาดและยั่งยืน


🔹️ ผลิตภัณฑ์ e-methanol จากโรงงานแห่งนี้ถูกส่งมอบให้กับบริษัทชั้นนำ ได้แก่ A.P. Moller – Maersk สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงในเรือเดินสมุทร, LEGO Group และ Novo Nordisk เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตพลาสติกและสารเคมีที่ยั่งยืน


🍀 การผลิต e-methanol จากพลังงานสะอาด

e-methanol เป็นผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกับเมทานอลทั่วไป ซึ่งในปัจจุบันมีการผลิตกว่า 100 ล้านตันต่อปี โดยการสังเคราะห์จากก๊าซธรรมชาติหรือถ่านหิน แต่ e-Methanol แตกต่างตรงที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน และใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (biogenic CO₂) ที่ได้จากโรงงานผลิตก๊าซชีวภาพ (Biogas) หรือโรงไฟฟ้าชีวมวล (Biomass Power Plant) เพื่อผลิต e-methanol โดยอาศัยเทคโนโลยี Power-to-X มีขั้นตอนหลักๆ ดังนี้


🔹️ การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน: เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ที่เป็นพลังงานสะอาดไม่มีการปล่อย CO₂


🔹️ การผลิตไฮโดรเจน: โดยอาศัยกระบวนการ Electrolysis ในการแยกน้ำออกเป็นไฮโดรเจนและออกซิเจนด้วยไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน


🔹️ การดักจับและการใช้ CO₂ ซึ่งมาจากแหล่งต่างๆ เช่น การจับ CO₂ จากโรงงานผลิตก๊าซชีวภาพ (Biogas) โรงไฟฟ้าชีวมวล (Biomass Power Plant) อีกทั้งยังสามารถดักจับได้จากอากาศโดยตรง (Direct Air Capture - DAC) และจากโรงงานอุตสาหกรรม (Point Source)


🔹️ การสังเคราะห์ e-methanol โดยการนำก๊าซไฮโดรเจนและก๊าซ CO₂ มาทำปฏิกิริยาเคมีในกระบวนการสังเคราะห์ที่อาศัยตัวเร่งปฏิกิริยา เพื่อผลิต e-methanol


🔹️ การกักเก็บและนำไปใช้ โดย e-methanol ที่ได้สามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนในภาคการขนส่งหนัก หรือใช้ในอุตสาหกรรมเคมีต่างๆ เพื่อลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล


🌍 แนวโน้มตลาดโลกและศักยภาพของ e-methanol

แม้การผลิต e-methanol ในปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำ แต่ความต้องการทั่วโลกกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยคาดว่าจะสูงถึง 250 ล้านตันภายในปี 2050 ความต้องการส่วนใหญ่มาจากภาคขนส่งและอุตสาหกรรมเคมี โดยเฉพาะการเดินเรือ ซึ่งมีการสั่งซื้อเรือที่ใช้เชื้อเพลิงเมทานอลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (จาก 35 ลำในปี 2022 เป็นประมาณ 160 ลำในปี 2024)


🎯 ข้อได้เปรียบสำคัญของ e-methanol คือความสะดวกในการขนส่ง เพราะเป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้อง จึงสามารถใช้ท่าเรือและโครงสร้างพื้นฐานเดิมได้ ทำให้เกิดโอกาสในการส่งออกเชื้อเพลิงนี้ไปยังต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้ง e-methanol มีความหลากหลายในการใช้งาน ทั้งในฐานะเชื้อเพลิงผสมในน้ำมันเบนซินและดีเซล โดยเฉพาะใช้ในอุตสาหกรรมเดินเรือ และการแปรรูปต่อเป็นเชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF) นอกจากนี้ยังสามารถนำมาแทนที่เมทานอลจากฟอสซิลในการผลิตพลาสติกและสารเคมีต่างๆ ได้โดยตรง


📕 ความท้าทายด้านนโยบายและการจัดการทรัพยากร

เพื่อรักษาความเป็นผู้นำในเทคโนโลยี Power-to-X ได้อย่างยั่งยืน ผู้ผลิต e-methanol จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนเชิงนโยบายจากภาครัฐอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในเรื่องการจัดหาพลังงานหมุนเวียนในราคาที่แข่งขันได้ และการจัดการทรัพยากร biogenic CO₂ ซึ่งถือเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิต e-methanol ซึ่ง biogenic CO₂ จะมีความแตกต่างจาก CO₂ ที่ได้จากเชื้อเพลิงฟอสซิลตรงที่ biogenic CO₂ ถูกจัดให้เป็นกลางทางสภาพภูมิอากาศ (climate neutral) ในระบบบัญชีคาร์บอน เพราะ CO₂ มีลักษณะการหมุนเวียนตามธรรมชาติ ไม่ได้เพิ่มปริมาณคาร์บอนใหม่ในชั้นบรรยากาศ ซึ่งแตกต่างจาก CO₂ ที่ได้จากเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างชัดเจน


อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้ CO₂ ในระบบเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCUS) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจทำให้ทรัพยากร CO₂ สำหรับการผลิต e-methanol มีจำกัด ดังนั้นจึงควรมีนโยบายที่ส่งเสริมการใช้ biogenic CO₂ เพื่อการผลิตมากกว่าการนำไปกักเก็บถาวร


🚩 แหล่งที่มาของข้อมูล: European Energy


---------------------------------------------------

ติดตามข้อมูลผ่านช่องทางต่างๆ ได้ที่

Facebook: Net Zero Techup


 
 
 

Comments


Post: Blog2_Post

NET ZERO TECHUP

  • Facebook
  • Instagram
  • YouTube

©2022 by Net Zero Techup

bottom of page