♻️ แบตเตอรี่ลิเทียม: ทางรอดของสิ่งแวดล้อม หรือ จุดเริ่มต้นของปัญหาใหม่?
- Net Zero Techup
- 4 วันที่ผ่านมา
- ยาว 1 นาที

♻️ แบตเตอรี่ลิเทียม: ทางรอดของสิ่งแวดล้อม หรือ จุดเริ่มต้นของปัญหาใหม่?
ในยุคที่โลกเร่งเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ลิเทียมจึงกลายเป็นทรัพยากรสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าและระบบกักเก็บพลังงาน อย่างไรก็ตาม การผลิตลิเทียมจากแหล่งน้ำเกลือ (brine) ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่แห้งแล้ง เช่น ที่ราบสูง Puna ทางตอนเหนือของอาร์เจนตินา กลับต้องพึ่งพาน้ำจืด (Water Footprint) จำนวนมาก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทรัพยากรน้ำ ระบบนิเวศ และชุมชนท้องถิ่นอย่างรุนแรง
📕 อ้างอิงจากงานวิจัยในวารสาร Heliyon โดย Díaz Paz และคณะ (2025) นักวิจัยได้ศึกษาการใช้ทรัพยากรน้ำในกระบวนการผลิตลิเทียมคาร์บอเนต (Li₂CO₃) เกรดแบตเตอรี่จากเหมืองสองแห่งในประเทศอาร์เจนตินา คือ เหมือง Olaroz และ เหมือง Fénix โดยเหมืองทั้งสองใช้เทคโนโลยีการสกัดที่แตกต่างกัน คือ Olaroz ใช้วิธีการระเหยแบบดั้งเดิม (Evaporation) ส่วน Fénix ใช้เทคโนโลยีใหม่แบบสกัดโดยตรง (Direct Lithium Extraction – DLE)
ผลการศึกษา พบว่า:
✅ เหมือง Fénix ใช้น้ำจืดต่อการผลิตลิเทียมหนึ่งตันมากกว่า Olaroz ถึง 2.7 เท่า คือประมาณ 135.5 ลูกบาศก์เมตรต่อหนึ่งตัน ในขณะที่ Olaroz ใช้ประมาณ 51 ลูกบาศก์เมตรต่อหนึ่งตัน ถึงแม้ว่า Fénix จะผลิตลิเทียมได้มากกว่า แต่ก็ใช้น้ำจืดมากกว่ามาก ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญในพื้นที่แห้งแล้งที่น้ำจืดมีจำกัด
✅ ในแง่ของการใช้น้ำเกลือ (brine) ซึ่งเป็นน้ำที่สูบขึ้นมาจากบ่อน้ำเกลือใต้ดินเพื่อใช้ในกระบวนการผลิต พบว่า Olaroz ใช้มากกว่า Fénix คือประมาณ 537.4 ลูกบาศก์เมตรต่อหนึ่งตัน ขณะที่ Fénix ใช้เพียง 319.6 ลูกบาศก์เมตรต่อหนึ่งตัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยี DLE ของ Fénix มีประสิทธิภาพมากกว่าในด้านนี้
✅ เมื่อรวมปริมาณการใช้น้ำ (Water Footprint) ทั้งหมด พบว่า เหมือง Fénix ใช้น้ำประมาณ 672.95 ลูกบาศก์เมตรต่อการผลิตลิเทียมหนึ่งตัน ขณะที่เหมือง Olaroz ใช้น้ำประมาณ 370.66 ลูกบาศก์เมตรต่อหนึ่งตัน โดยรวมทั้งสองเหมืองใช้น้ำจืดและน้ำเกลือรวมกันประมาณ 1.0435 ล้านลิตร ต่อการผลิตลิเทียมหนึ่งตัน
✅ นักวิจัยยังได้เปรียบเทียบปริมาณการใช้น้ำกับจำนวนประชากร โดยพบว่า:
🔹️การใช้น้ำของ Olaroz เทียบเท่ากับการใช้น้ำของ ประชากร 32,283 คนต่อปี
🔹️การใช้น้ำของ Fénix เทียบเท่ากับการใช้น้ำของ ประชากร 141,047 คนต่อปี
🔹️ทั้งที่ในความเป็นจริง พื้นที่รอบเหมืองมีประชากรไม่ถึง 2,100 คน ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรน้ำระหว่างชุมชนและอุตสาหกรรม
แม้เทคโนโลยี DLE จะมีประสิทธิภาพในการลดการใช้น้ำเกลือ แต่กลับต้องแลกด้วยการใช้น้ำจืดในปริมาณสูง ซึ่งอาจไม่เหมาะสมกับพื้นที่ที่มีน้ำจืดจำกัด ดังนั้น การประเมินผลกระทบและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในอุตสาหกรรมลิเทียมควรทำอย่างรอบด้าน ทั้งด้านเทคนิค สิ่งแวดล้อม และสังคม เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว
✳️ รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ช่วยลดการปล่อย CO₂ จริงหรือ?
แม้ว่ารถยนต์ EV จะถูกมองว่าเป็นทางเลือกที่ช่วยลดการปล่อย CO₂ จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงในรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) แต่เมื่อพิจารณาในมุมมองของวงจรชีวิตทั้งหมด พบว่าการใช้ถยนต์ EV ไม่ได้ปลอดมลพิษเสมอไป โดยเฉพาะในส่วนของการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียม ซึ่งต้องใช้วัตถุดิบจากเหมืองในพื้นที่แห้งแล้ง เช่น สามเหลี่ยมลิเทียม (Lithium Triangle) ในอเมริกาใต้ ส่งผลให้เกิดแรงกดดันอย่างมากต่อทรัพยากรน้ำจืด ระบบนิเวศ และชุมชนพื้นเมืองที่พึ่งพาแหล่งน้ำเดียวกัน (Díaz Paz et al., 2025)
ยิ่งไปกว่านั้น หากแหล่งพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ชาร์จ EV ยังคงพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติ การลดการปล่อย CO₂ ที่ได้จากการเปลี่ยนจาก ICE มาเป็น EV ก็จะมีน้อยมาก หรืออาจไม่มีเลย ในบางประเทศที่มีระบบไฟฟ้าคาร์บอนเข้มข้น การใช้ EV อาจปล่อย CO₂ ต่อระยะทางมากกว่ารถน้ำมันด้วยซ้ำ (ICCT, 2021; IEA, 2023)
ดังนั้น การเปลี่ยนมาใช้ EV จะช่วยลดการปล่อย CO₂ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ต่อเมื่อ ระบบไฟฟ้าของประเทศมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนสูง และ ห่วงโซ่อุปทานของแบตเตอรี่ได้รับการจัดการอย่างยั่งยืนทั้งด้านพลังงาน น้ำ และสิ่งแวดล้อม
🚩 แหล่งที่มาของข้อมูล:
Díaz Paz, L., et al. (2025). The Water Footprint of Lithium Extraction Technologies: Insights from Environmental Impact Reports in Argentina’s Salt Flats. Heliyon, 11(5), e42523.
---------------------------------------------------
ติดตามข้อมูลผ่านช่องทางต่างๆ ได้ที่
Website: www.netzerotechup.com
Facebook: Net Zero Techup
Blockdit: www.blockdit.com/netzerotechup
Youtube: www.youtube.com/@netzerotechup
Kommentare