top of page
ค้นหา

♻️ Green Ammonia คืออะไร และจะช่วยให้โลกบรรลุ Net Zero ได้อย่างไร

รูปภาพนักเขียน: Net Zero TechupNet Zero Techup

อัปเดตเมื่อ 5 มี.ค. 2566


🚩 Ammonia 101


แอมโมเนีย (NH3) มีสถานะเป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้อง ภายใต้ความดัน 10 bar หรือ เป็นของเหลวเมื่อถูกลดอุณหภูมิให้เหลือ -33 องศาเซลเซียส ที่ความดันบรรยากาศ แอมโมเนียจัดเป็นหนึ่งในสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญของโลก โดยทั่วไประบบการขนส่งแอมโมเนียจะนิยมขนส่งทางเรือและทางท่อซึ่งมีความปลอดภัยและเป็นที่ยอมรับ ปัจจุบันมีการผลิตแอมโมเนียประมาณ 180 ล้านตันต่อปี โดยใช้ในการผลิตปุ๋ยเพื่อการเกษตรประมาณ 80% ส่วนที่เหลือจะถูกนำใช้ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ โดย 97% ของปุ๋ยไนโตรเจนที่ใช้บนโลกใบนี้จะใช้แอมโมเนียเป็นสารตั้งต้น ผู้ผลิตแอมโมเนียรายใหญ่ที่สุดของโลกคือ CF Industries มีกำลังการผลิตประมาณ 10 ล้านตันต่อปี รองลงมาคือ Yara มีกำลังการผลิตแอมโมเนีย 8.5 ล้านตันต่อปี และอันดับที่สามคือ Nutrien มีกำลังการผลิตประมาณ 7 ล้านตันต่อปี


กว่าทศวรรษที่ผ่านมา โลกได้รู้จักกระบวนการสังเคราะห์แอมโมเนียที่เรียกว่า Haber-Bosch Process ซึ่งถูกค้นพบโดย Fritz Haber และ Carl Bosch ในระดับห้องปฏิบัติการช่วงฤดูร้อนปี 1909 ต่อมากระบวนการนี้ได้ถูกซื้อโดยบริษัท BASF และแอมโมเนียถูกผลิตขึ้นครั้งแรกในระดับอุตสาหกรรมช่วงปี 1913 ในประเทศเยอรมนี ทำให้ Fritz Haber ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีในปี 1918 นับเป็นการปฏิวัติเกษตรกรรมครั้งยิ่งใหญ่ เนื่องจากส่งผลให้ปุ๋ยมีราคาถูกลง และสามารถหาซื้อได้ทั่วไปบนโลกใบนี้ อีกทั้งยังแอมโมเนียยังเป็นสารตั้งต้นในการผลิตสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกด้วย


ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 เยอรมนีได้ใช้ประโยชน์จากกระบวนการนี้ โดยใช้แอมโมเนียเป็นสารตั้งต้นในการผลิตแอมโมเนียมไนเตรต (Ammonium Nitrate) เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ เนื่องจากมีภาวะขาดแคลนน้ำมันดีเซลและเบนซินในระหว่างสงคราม ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เบลเยี่ยม ได้มีการปรับแต่งเครื่องยนต์รถโดยสารกว่า 100 คัน เพื่อให้สามารถใช้แอมโมเนียเป็นเชื้อเพลิงทดแทน ถึงแม้ว่าเหตุการณ์ไม่ได้กินระยะเวลายาวนาน เนื่องจากสามารถจัดหาเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ในระยะเวลาต่อมา แต่ก็ทำให้เห็นว่าแอมโมเนียสามารถใช้แทนน้ำมันเชื้อเพลิงได้ และสามารถใช้ร่วมกับถ่านหินในการการผลิตไฟฟ้าได้เช่นเดียวกัน


ปัจจุบัน ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจในการพัฒนาเทคโนโลยี Electrochemical ในการผลิต Green Ammonia และ Green Hydrogen วัตถุประสงค์เพื่อใช้ประโยชน์จากคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่ดักจักในอากาศ (Direct Air Capture) หรือดักจับโดยตรงจากโรงไฟฟ้าชีวมวล เพื่อช่วยให้โลกบรรลุความเป็นกลางของคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission)


🚩 กระบวนการผลิตแอมโมเนียแบบดั้งเดิม


แรกเริ่มแอมโมเนียถูกผลิตเพื่อให้เป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยเป็นหลักด้วยกระบวนการ Haber-Bosch Process ในกระบวนการนี้แอมโมเนียสามารถสังเคราะห์ได้จากปฏิกิริยาระหว่างไนโตรเจน (N2) และไฮโดรเจน (H2) โดยอาศัยตัวเร่งปฏิกิริยาเป็นเหล็กผสมกับโพแทสเซียมออกไซด์และอะลูมิเนียมออกไซด์ปริมาณเล็กน้อย ทำปฏิกิริยาที่อุณหภูมิระหว่าง 300-500 องศาเซลเซียส ภายใต้ความดัน 10-25 MPa เพื่อเร่งกระบวนการ Hydrogenation ซึ่งเป็นการเติมไฮโดรเจนในโมเลกุลไนโตรเจน (N2 + 3H2 → 2NH3) โดยแหล่งไฮโดรเจนหลักที่ใช้มาจากไฮโดรคาร์บอนที่ผลิตได้ในกระบวนการรีฟอร์มมิ่งด้วยไอน้ำของมีเทน (Steam Reforming of Methane) และปฏิกิริยาออกซิเดชั่นบางส่วนของถ่านหิน (Partial Oxidation of Coal) ซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้พลังงานสูงมาก โดยแอมโมเนียที่ผลิตจากกระบวนการนี้ถูกเรียกว่า Brown Ammonia  กระบวนการผลิตแอมโมเนียด้วยวิธีนี้ใช้พลังงานประมาณ 1.8 - 3.0% ของปริมาณการใช้พลังงานในโลก อีกทั้งยังเป็นกระบวนการที่ปลดปล่อย CO2 มากที่สุด และปลดปล่อย NOx ในปริมาณสูงอีกด้วย


🚩 การปฏิวัติอุตสาหกรรมการผลิตแอมโมเนีย

เนื่องจากกระบวนการผลิตในปัจจุบันยังมีข้อจำกัดด้านสิ่งแวดล้อม ดังนั้นเพื่อให้โลกบรรลุความเป็นกลางของคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์นั้น จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งหาวิธีใช้ประโยชน์จากคาร์บอนไดออกไซด์ที่ดักจักได้ในอากาศ หรือดักจับโดยตรงจากโรงไฟฟ้าชีวมวล การพัฒนาของเทคโนโลยีการผลิตแอมโมเนียสามารถแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังต่อไปนี้


✅️ ระยะที่ 1 ยังคงใช้กระบวนการดั้งเดิมคือ Haber-Bosch Process แต่จะเพิ่มขั้นตอนการดักจับและกักเก็บ CO2 เข้าไปในกระบวนการผลิตเดิม เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แอมโมเนียที่ผลิตได้นี้จะถูกเรียกว่า Blue Ammonia ถือเป็นขั้นตอนการเปลี่ยนถ่าย (Transition Stage) จากเดิมที่ใช้แอมโมเนียเพื่อผลิตปุ๋ยเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการต่อยอดเพื่อใช้ผลิตเป็นเคมีภัณฑ์ประเภทต่างๆ


✅️ ระยะที่ 2 กระบวนการสังเคราะห์ยังคงเป็นกระบวนการ Haber-Bosch Process แต่แตกต่างที่แหล่งพลังงานที่ใช้ในกระบวนการผลิตจะมาจากแหล่งพลังงานทดแทนทั้งหมด รวมถึงไฮโดรเจนเองจะต้องผลิตมาจากกระบวนการ Water Electrolysis ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทดแทนเท่านั้น หรือเรียกว่า Green Hydrogen แต่เนื่องจากกระบวนการผลิตต้องมีความต่อเนื่องจึงจำเป็นใช้เทคโนโลยีการเก็บกับพลังงานควบคู่กันไป โดยแอมโมเนียที่ผลิตได้จากกระบวนการนี้จะเรียกว่า Green Ammonia แม้จะยังคงอาศัยกระบวนการ Haber-Bosch Process ก็ตาม


✅️ ระยะที่ 3 จะไม่มีการใช้กระบวนการ Haber-Bosch Process ในการผลิตแอมโมเนีย แต่จะอาศัยปฏิกิริยาไฟฟ้าเคมี (Electrochemical Reaction) ภายในเซลล์เชื้อเพลิงเพื่อสังเคราะห์แอมโมเนียแทน รวมถึงไฮโดรเจนเองจะต้องผลิตมาจากกระบวนการ Water Electrolysis ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทดแทนด้วยเช่นกัน แอมโมเนียที่ผลิตได้จากกระบวนการนี้จะถูกเรียกว่า Green Ammonia เช่นเดียวกันกับระยะที่ 2 แต่จะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า เนื่องจากการปลดปล่อย CO2 เป็นศูนย์ โดยโรงงานจะมีขนาดเล็กลงมากเมื่อเทียบกับขนาดของโรงงานดั้งเดิม นอกจากนี้ แอมโมเนียยังสามารถสังเคราะห์ได้จากปฏิกิริยาทางแสง (Photocatalytic) บนตัวเร่งปฏิริยาไททาเนียมไดออกไซด์ ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนา


🚩 กระบวนการผลิต Green Ammonia ด้วยกระบวนการไฟฟ้าเคมี (Electrochemical)


แอมโมเนียสามารถสังเคราะห์ได้จากกระบวนการทางไฟฟ้าเคมีซึ่งเกิดขึ้นภายในเซลล์เชื้อเพลิง ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทดแทน โดยอาศัยสารอิเล็กโทรไลต์ (Electrolyte) เป็นสารตัวนำไฟฟ้า สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่


✅️ 1. อิเล็กโทรไลต์ที่เป็นของแข็ง (Solid Electrolytes) เช่น พอลิเมอร์ หรือ เพอรอฟสกี (Perovskites) สามารถทำปฏิกิริยาที่อุณหภูมิห้องจนถึงอุณหภูมิสูง > 500 °C [เพอรอฟสกี คือ โซลาร์เซลล์ที่เกิดจากวัสดุผสมระหว่างตะกั่วหรือดีบุกกับเฮไลด์]


✅️ 2. อิเล็กโทรไลต์ชนิดหลอมละลาย (Molten Electrolytes) เช่น โซเดียมคลอไรด์ (NaCl) สามารถทำปฏิกิริยาได้ที่อุณหภูมิปานกลาง (100 °C <  T  < 500 °C)


✅️ 3. อิเล็กโทรไลต์ที่เป็นของเหลว (Liquid Electrolytes) จะใช้น้ำเป็นแหล่งโปรตอนแตกตัวเป็นไฮโดรเจนที่ขั้วแอโนด (Anode) โมเลกุลไนโตรเจนจะถูกแยกออกเป็นอะตอมไนโตรเจนที่ขั้วแคโทด (Cathode) ซึ่งโมเลกุลไนโตรเจนจะถูกเติมด้วยไฮโดรเจนผ่านกระบวนการ Hydrogenation โดยอาศัยตัวเร่งปฏิกิริยากลายเป็นเเอมโมเนีย กระบวนการนี้สามารถทำปฏิกิริยาได้ที่อุณหภูมิใกล้เคียงกับอุณหภูมิห้อง


ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การวิจัยจะมุ่งเน้นไปที่การสังเคราะห์เเอมโมเนียในอิเล็กโทรไลต์ที่เป็นของแข็ง หรือเกลือลอมเหลว (Molten Salts)  ซึ่งให้อัตราการผลิตเเอมโมเนียค่อนข้างสูงระดับที่อุณหภูมิสูง อย่างไรก็ตาม วิธีการเหล่านี้ยังไม่สามารถดำเนินการได้ในระดับอุตสาหกรรม ดังนั้น การผลิตแอมโมเนียที่สภาวะแวดล้อมในอิเล็กโทรไลต์ที่เป็นของเหลวจึงได้รับความสนใจและเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากสามารถสังเคราะห์ได้ที่อุณหภูมิต่ำ โดยมีเป้าหมายเพื่อผลิตแอมโมเนียจากไนโตรเจนและน้ำที่ใช้กระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน


🚩 การประยุกต์ใช้แอมโมเนียในภาคอุตสาหกรรม


แอมโมเนียส่วนใหญ่ประมาณ 80% ถูกนำไปใช้ในการผลิตปุ๋ยโดยเฉพาะใช้ผลิตปุ๋ย แอมโมเนียมไนเตรต (Ammonium Nitrate) และปุ๋ยยูเรีย (Urea) นอกจากจะใช้แอมโนเนียในอุตสาหกรรมการเกษตรแล้ว ยังสามารถประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ อาทิเช่น


✅️ ใช้แอมโมเนียทำปฏิกิริยากับ Cyclohexanone ได้สารคาโปรแลกตัม (Caprolactam) ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการทำเส้นใยไนลอน (Nylon) ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น แห อวน พรม ฟิล์มถนอมอาหาร และขนแปรงสีฟัน อีกทั้งยังสามารถหล่อเป็นชิ้นส่วนรถยนต์ สกรู เฟือง และปะเก็น ได้อีกด้วย


✅️ ใช้แอมโมเนียเป็นสารตั้งต้นในอุตสาหกรรมการผลิตกรดไนตริก (Nitric acid) ซึ่งนำไปใช้ประโยชน์อื่นๆ เช่น ใช้สำหรับการฆ่าเชื้อ และล้างทำความสะอาดผักผลไม้ในครัวเรือน ใช้สำหรับการฆ่าเชื้อ และป้องกันเชื้อราในผลผลิตทางการเกษตรใช้เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดชนิดต่างๆ ใช้เป็นสารเร่งปฏิกิริยา ใช้เป็นตัวทำละลาย ตัวทำละลายโลหะโดยเฉพาะเหมืองทองคำ เป็นต้น


✅ ใช้แอมโมเนียในอุตสาหกรรมชุบแข็งและเคลือบผิวโลหะ โดยการทำให้แอมโมเนียแตกตัวที่อุณหภูมิประมาณ 400-500 องศาเซลเซียส เพื่อให้สารไนโตรเจนเข้าไปอยู่ในโมเลกุลของโลหะ ทำให้โลหะมีคุณสมบัติแข็งขึ้นและลื่น เหมาะสมสำหรับใช้ทำชิ้นส่วนเครื่องจักรกลต่างๆ


✅ ใช้แอมโมเนียในอุตสาหกรรมน้ำยางเข้มข้น (Concentrate Latex) โดยแอมโมเนียจะช่วยป้องกันการแข็งตัวของน้ำยาง และยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียบางชนิด


✅ ใช้แอมโมเนียในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อแอมโมเนียทำปฏิกิริยากับไซเลนหรือสารตั้งต้นซิลิคอนอื่นๆ กลายเป็นผลิตภัณฑ์ซิลิคอนไนไตรด์ (Silicon Nitride) เกิดเป็นเเผ่นฟิล์มบางๆ สามารถนำไปใช้เป็นสารเคลือบผิวจอภาพเพื่อทำหน้าที่เป็นฉนวนไฟฟ้า อีกทั้งใช้ในกระบวนการผลิตเซมิคอนดักเตอร์, โซลาร์เซลล์ และ LED เป็นต้น


✅ นอกจากนี้ แอมโมเนียยังมีการนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการสร้างวัตถุระเบิด เช่น Tri Nitrotoluene (TNT), Nitro Cellulose Nitroglycerin และ Ammonium nitrate เป็นต้น


✅ ยิ่งไปกว่านั้น ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจในขณะนี้ คือใช้แอมโมเนียเป็นเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมพลังงานและภาคการขนส่ง ได้แก่


🔹️ เครื่องยนต์เรือเดินทะเล (Marine Engine)การใช้แอมโมเนียเป็นเชื้อเพลิงสำหรับเรือเดินทะเลดึงดูดความสนใจธุรกิจการเดินเรือเป็นอย่างมาก เนื่องจากองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization) กำหนดให้มีมาตรการลดปริมาณซัลเฟอร์ในน้ำมันเชื้อเพลิงและลดการปลดปล่อยคาร์บอนในภาคขนส่งทางเรือภายในปี 2050 โดยมีการศึกษายืนยันว่าการใช้แอมโมเนียเป็นเชื้อเพลิงมีความเหมาะสมกับเรือเดินสมุทร ผลการศึกษาชี้กว่าการใช้แอมโมเนียในเครื่องยนต์เบนซินให้ประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการใช้น้ำมันดีเซลทั้งในด้านกำลังขับเคลื่อนและการปลดปล่อย NOx การศึกษายังชี้ให้เห็นอีกว่าการใช้แอมโมเนียเป็นเชื้อเพลิงสามารถลดปัญหาสิ่งแวดล้อมแบบองค์รวมได้อย่างเห็นได้ชัด


🔹️ เครื่องยนต์ยานพาหนะ (Vehicle Engine)เครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal combustion engine: ICE) สามารถปรับปรุงให้สามารถใช้แอมโมเนียเป็นเชื้อเพลิงได้ นักวิจัยในเกาหลีใต้ได้ทำการทดสอบการใช้เชื้อเพลิงในเครื่องยนต์เบนซินที่มีสัดส่วนผสมแอมโมเนีย 70% และน้ำมันเบนซิน 30% ในรถยนต์ส่วนบุคคล โตโยต้ากำลังพัฒนาเครื่องยนต์สันดาปภายในเพื่อให้สามารถใช้กับแอมโมเนียได้เช่นกัน อีกทั้งยังมีการศึกษาอีกหลายโครงการที่ทดการทดลองปรับปรุงเครื่องยนต์ดีเซลในรถบรรทุกให้สามารถใช้กับ แอมโมเนียได้ การศึกษายังรวมไปถึงการออกแบบเครื่องยนต์ให้สามารถใช้งานได้กับเชื้อเพลิงผสม (Dual Fuel) และระบบไฮบริด (Hybrid) โดยมุ่งเน้นไปที่การใช้แอมโมเนียอีกด้วย อย่างไรก็ตามการปลดปล่อย NOx ยังคงเป็นปัญหา มีการศึกษาพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องนี้ควบคู่ไปด้วย ซึ่งจำเป็นต้องมีการติดตั้งเครื่องฟอกไอเสียเชิงเร่งปฏิกิริยา (Catalytic Converter) เพิ่มเติม


🔹️ เครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Electric Generator)แนวคิดการผลิตและการใช้แอมโมเนียเป็นเชื้อเพลิงในเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในพื้นที่ในพื้นที่ห่างไกลหรือพื้นที่ที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก มีการศึกษาและทดลองแอมโมเนียผสมในเชื้อเพลิง 80% กับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดกำลังการผลิต 3.5 kW อย่างไรก็ตามการปลดปล่อย NOx ยังเป็นประเด็นที่ต้องศึกษาเช่นเดียวกันกับเครื่องยนต์พาหนะ


🔹️ เครื่องผลิตไฟฟ้ากังหันก๊าซ (Gas Turbines)เครื่องผลิตไฟฟ้ากังหันก๊าซเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สามารถนำเเอมโมเนียไปใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ นักวิจัยวิจัยญี่ปุ่นของสถาบัน Advanced Industrial Science and Technology (AIST) ได้ทดลองให้แอมโมเนียเป็นเชื้อเพลิงกับเครื่องผลิตไฟฟ้ากังหันก๊าซขนาดกำลังการผลิต 41.8 kW เป้าหมายเพื่อเตรียมการใช้งานในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่มีขนาดใหญ่ขึ้น โดยนักวิจัยญี่ปุ่นมีความเชื่อมั่นว่าปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการเผาไหม้แอมโมเนียอย่างการปลดปล่อย NOx นั้นจะสามารถแก้ไขได้ด้วยความรู้ความเข้าใจด้านสมดุลทางความร้อน  (Thermodynamics) และการปลี่ยนแปลงทางเคมีของการเผาไหม้ (Chemistry of Combustion) ด้วยการพัฒนาเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องการเผาไหม้ จะทำให้สามารถต่อยอดความรู้ที่ได้เพื่อให้เข้าใจการเผาไหม้แอมโมเนียในเครื่องยนต์อากาศยาน (Jet engine) ได้ดียิ่งขึ้น เพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืนในอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งแอมโมเนียได้ถูกประเมินว่าเป็นเชื้อเพลิงที่มีศักยภาพสูงเมื่อเปรียบเทียบกับเชื้อเพลิงอย่าง Jet A-1 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เมื่อเปรียบเทียบการปลดปล่อย NOx กับเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ นักวิจัยให้ความเห็นว่าแอมโมเนียอาจเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าน้ำมัน Jet A-1 ด้วยซ้ำไป


🚩 การพัฒนาโครงการ Green Ammonia ในประเทศไทยและต่างประเทศ


✅️ เมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2565 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือศึกษา พัฒนาและสร้างเรือขนส่ง Zero-Emission Aframax ร่วมกับ บริษัท AET ภายใต้ MISC Group เพื่อร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ รวมถึงพัฒนาและสร้างเรือบรรทุกน้ำมันที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ Aframax มีขนาดประมาณ 120,000 เมตริกตัน ชนิดเชื้อเพลิงคู่ (Dual Fuel) คือสามารถใช้เชื้อเพลิงได้ทั้งกรีนแอมโมเนียและน้ำมันเตากำมะถันต่ำ จํานวน 2 ลํา ซึ่งหากการศึกษามีความเป็นไปได้ เรือลำแรกจะมีกําหนดส่งมอบให้กับ ปตท. เพื่อดำเนินการเช่าเหมาลําในไตรมาสที่ 4 ปี 2568 และลำที่สองในไตรมาสที่ 1 ปี 2569


✅️ เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2565 บริษัท Engie ได้ประกาศร่วมมือกับบริษัท Yara เพื่อสร้างโรงงาน Green Ammonia แห่งแรกของโลกในออสเตรเลีย โดย Engie ได้ตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้ายในการพัฒนาโครงการ Yuri Renewable Hydrogen to Ammonia มูลค่าการลงทุนประมาณ 87 ล้านเหรียญออสเตรเลีย คาดว่าก่อสร้างจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2567 โรงงาน Green Ammonia นี้จะตั้งอยู่ใกล้กับโรงงานปุ๋ยใน Pilbara ทำการติดตั้งอิเล็กโทรไลเซอร์ (Electrolyser) ขนาด 10 เมกะวัตต์ ใกล้กับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 18 เมกะวัตต์ ซึ่งสามารถผลิต Green Ammonia ได้ 600 ตันต่อปี


✅ เมื่อวันพุธที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา บริษัท อวาด้า กรุ๊ป (Avaada Group) พันธมิตรการลงทุนในอินเดียของ บมจ.โกลบอล พาวเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ของกลุ่มปตท. ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์แห่งรัฐราชสถานของอินเดีย เพื่อสร้างโรงงาน Green Ammonia และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในเมืองโกตา รัฐราชสถาน ประเทศอินเดีย มูลค่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ


✅ บริษัท Air Products ร่วมกับ บริษัท ACWA Power และ NEOM ประกาศการลงนามในข้อตกลงในการสร้างโรงงานผลิต Green Ammonia และ Green Hydrogen ที่ใหญ่ที่สุดในนีโอม (NEOM) ประเทศซาอุดิอาระเบีย มูลค่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งขับเคลื่อนด้วยพลังงานหมุนเวียนทั้งหมด โดยใช้เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนกว่า 4 กิกะวัตต์ มีกำลังการผลิตไฮโดรเจน 650 ตันต่อวัน ด้วยเทคโนโลยีอิเล็กโทรลิซิสของ Thyssenkrupp รวมถึงใช้เทคโนโลยีของ Air Products ในการผลิตไนโตรเจนจากอากาศ เเละมีกำลังการผลิต Green Ammonia ที่ 1.2 ล้านตันต่อปี โดยใช้เทคโนโลยีของ Haldor Topsoe คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มผลิตภายในปี 2025


✅ บริษัท Høst ได้รับเงินทุนมากกว่า 1 พันล้านยูโร จากกองทุน CI Energy Transition Fund I ที่บริหารโดย Copenhagen Infrastructure Partners (CIP) ในการจัดตั้งโครงการ HØST PtX Esbjerg เพื่อสร้างโรงงานผลิต Green Ammonia ในประเทศเดนมาร์ก โดยอาศัยเทคโนโลยีอิเล็กโทรลิซิสที่มีขนาดระดับกิกะวัตต์แห่งแรกในยุโรป ซึ่งใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนเท่านั้น โครงการนี้จะมีส่วนช่วยลดการปล่อยคาร์บอนเพื่อนำไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2030 โครงการนี้อยู่ในระหว่างการพัฒนา ตามด้วยการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้ายในต้นปี 2023 การก่อสร้างโครงการคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2026


🚩 ที่มาของข้อมูลและรูปภาพ:




















---------------------------------------------------

ติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางต่างๆ ได้ที่


 
 
 

Comments


Post: Blog2_Post

NET ZERO TECHUP

  • Facebook
  • Instagram
  • YouTube

©2022 by Net Zero Techup

bottom of page