โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ และเป็นโรงไฟฟ้าใต้ดิน แห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทย ตั้งอยู่ในจังหวัดนครราชสีมา โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ เป็นระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System: ESS) ประเภทหนึ่งที่มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยต่ำ ช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตไฟฟ้าได้ การผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าชนิดนี้ใช้หลักการเดียวกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำทั่วไป คือเก็บกักน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำ แล้วปล่อยน้ำผลิตไฟฟ้าในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้ามาก ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าทดแทนไฟฟ้าจากพลังลมหรือแสงอาทิตย์ที่ขาดหายไปได้อย่างทันท่วงที
🚩 โรงงานไฟฟ้าพลังน้ำทำงานอย่างไร?
โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ นั้นเกิดจากการใช้พลังงานจลน์ของน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการไหลของน้ำ การปล่อยน้ำ จากที่สูง หรือการเคลื่อนที่ของน้ำแบบอื่นๆ ไปหมุนกังหันน้ำและเครื่องกำเนิดไฟฟ้า โดยพลังงานไฟฟ้าที่ได้จะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบอื่นๆ เช่น ปริมาณน้ำ ประสิทธิภาพของกังหันน้ำ และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า โดยหลักการทำงานของโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังน้ำ คือ เริ่มจากการสร้างอ่างเก็บน้ำและเขื่อน ให้ระดับน้ำสูงกว่าระดับโรงไฟฟ้า แล้วปล่อยน้ำในปริมาณที่ต้องการไปตามท่อส่งน้ำ ส่งไปยังโรงไฟฟ้าที่อยู่ต่ำกว่า พลังของน้ำจะเข้าไปหมุนเพลาของกังหันน้ำที่ต่อกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ก็จะทำให้ได้พลังงานไฟฟ้าเกิดขึ้นนั่นเอง
✅️ ตัวอาคารโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา ถูกสร้างไว้ใต้ระดับผิวดินลึกกว่า 350 เมตร มีขนาดกว้าง 23 เมตร ยาว 175 เมตร สูง 47 เมตร เพื่อเพิ่มระยะทางจากอ่างเก็บน้ำบนเขาถึงอาคารโรงไฟฟ้าให้น้ำที่ไหลลงมามีกำลังแรงขึ้น
✅️ โรงไฟฟ้าทำงานโดยการสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำของเขื่อนกรมชลประทาน ไปเก็บไว้ที่อ่างพักน้ำบนเขายายเที่ยง ในช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าน้อยหรือช่วงกลางคืนถึงเช้า และเมื่อมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงในช่วงกลางวันถึงค่ำ จะปล่อยน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้า และปล่อยลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคองเหมือนเดิม อ่างพักน้ำบนเขายายเที่ยงสร้างแบบหินถม ดาดด้วยยางมะตอย เพื่อป้องกันน้ำซึมออกจากอ่าง เก็บกักน้ำได้ 10.3 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่ผิวน้ำ 0.34 ตารางกิโลเมตร
✅️ ปัจจุบัน โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า จำนวน 2 เครื่อง ใช้กังหันน้ำแบบสูบกลับชนิด Vertical Shaft Francis Type มีขนาดกำลังผลิต 1,000 เมกะวัตต์ ใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคองเป็นแหล่งพลังงานหลัก เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2537 ก่อสร้างแล้วเสร็จและนำไฟฟ้าเข้าสู่ระบบเมื่อปี พ.ศ. 2547 นับเป็นโรงไฟฟ้าที่มีส่วนสำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมในภูมิภาคนี้
🚩 กฟผ. เดินหน้า เสริมระบบกักเก็บพลังงาน
ปัจจุบัน กฟผ. มีโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ 3 แห่ง ได้แก่ 1) เขื่อนศรีนครินทร์ เครื่องที่ 4 และ 5 จังหวัดกาญจนบุรี กำลังผลิต 360 เมกะวัตต์ 2) เขื่อนภูมิพล เครื่องที่ 8 จังหวัดตาก กำลังผลิต 171 เมกะวัตต์ และ 3) โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา จังหวัดนครราชสีมา กำลังผลิต 1,000 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ กฟผ. มีแผนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับเขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ กำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ มีแผนจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในปี 2577 ซึ่งได้ดำเนินการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้วเสร็จเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา พร้อมทั้งจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ตามลำดับ เมื่อ 15 มีนาคม 2566
⛔️ อย่างไรก็ตาม แม้จะถูกเข้าใจว่าโรงไฟฟ้าพลังน้ำเป็นพลังงานสะอาด แต่การสร้างเขื่อนก็จะทำให้ต้องเสียพื้นที่ป่าไม้เป็นบริเวณกว้าง นอกจากสัตว์ป่าก็ถูกรบกวนแล้ว เคยมีการค้นพบว่าหากต้นไม้ยืนต้นตายใต้น้ำก็อาจสร้างปริมาณคาร์บอนไดซ์ออกไซด์พอๆ กับการผลิตไฟฟ้าจากฟอสซิลเลย นอกจากนี้เรายังมักจะคิดกันว่าเขื่อนเป็นโครงสร้างที่คงทนถาวร ทั้งที่จริงแล้วเขื่อนย่อมมีโอกาสจะแตกได้เสมอทั้งจากภัยธรรมชาติหรือการบำรุงรักษาที่ไม่เหมาะสม ซึ่งหากเขื่อนแตกก็จะส่งผลให้น้ำในเขื่อนทะลักจนเกิดปัญหาอุทกภัยแก่บริเวณใกล้เคียง ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องทบทวนให้รอบคอบ หรือมองหาพลังงานทางเลือกอื่นทดแทน
🚩 แหล่งที่มาของข้อมูล: #EGAT
---------------------------------------------------
ติดตามข้อมูลผ่านช่องทางต่างๆ ได้ที่
Website: www.netzerotechup.com
Facebook: Net Zero Techup
Blockdit: www.blockdit.com/netzerotechup
Youtube: www.youtube.com/@netzerotechup
Comments