top of page
ค้นหา

♻️ นับถอยหลังอีกเพียงหนึ่งสัปดาห์ของการประชุม COP27

รูปภาพนักเขียน: Net Zero TechupNet Zero Techup

อัปเดตเมื่อ 5 มี.ค. 2566


♻️ COP27, Kyoto Protocol, Paris Agreement คืออะไร เเละสำคัญอย่างไร


🚩ประวัติความเป็นมาโดยย่อ

นับจากช่วงทศวรรษ 1980 หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงผลจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเนื่องมาจากกิจกรรรมต่าง ๆ ของมวลมนุษยชาติ ก่อให้เกิดสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อันเชื่อว่าเป็นภัยคุกคามที่สำคัญของโลก ต่อมาจึงนำไปสู่การยกร่างอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change : UNFCCC) ขึ้นและมีมติรับรองในวันที่ 9 พฤษภาคม 2535 ณ สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ นครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา และมีผลบังคับใช้เมื่อ 21 มีนาคม 2537 ความพยายามแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับโลกมีมาเป็นลำดับอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบัน มีการจัดทำความตกลงระหว่างประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวม 3 ฉบับ ได้แก่ กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP) พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) และความตกลงปารีส (Paris Agreement)


🚩COP คืออะไร

COP หรือ Conference of the Parties to the UNFCCC คือ เวทีประชุมสมัชชารัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นองค์กรสูงสุดที่เป็นเวทีการเจรจาระหว่างประเทศของรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีอํานาจในการตัดสินใจดําเนินการภายใต้อนุสัญญาฯ โดยจะมีการประชุม COP ในราวเดือนพฤศจิกายน/ธันวาคมของทุกปี เริ่มจัดการประชุมครั้งแรก หรือ COP1 ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ในปี พ.ศ.2538 โดยในปีนี้ เวทีประชุมสมัชชารัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติครั้งที่ 27 (COP27) จะจัดขึ้นที่เมืองชาร์มเอลชีค ประเทศอียิปต์ ระหว่างวันที่ 6-18 พฤศจิกายน 2565 โดยมีรัฐภาคีเกือบ 200 ประเทศทั่วโลกจะส่งผู้แทนมาเข้าร่วมประชุมหารือกันเป็นประจำทุกปี


🚩KyotoProtocol คืออะไร

Kyoto Protocol หรือ พิธีสารเกียวโต เกิดขึ้นในการประชุมสมัยที่ 3 ของการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาฯ (COP3) ที่นครเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ในปี

พ.ศ. 2540 พิธีสารนี้มีความสําคัญมากและถือเป็นพิธีสารฉบับแรกของโลกในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยกําหนดให้กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว มีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างน้อยร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับระดับการปล่อยในปี พ.ศ. 2533 ภายในช่วงปี พ.ศ. 2551 ถึง 2555 พิธีสารนี้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548


🚩Paris Agreement คืออะไร

Paris Agreement หรือ ความตกลงปารีส เป็นสนธิสัญญาที่มีผลทางกฎหมายฉบับแรกที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกที่ลงนามในการประชุมสมัยที่ 21 ของการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาฯ (COP21) ณ กรุงปารีสในปีพ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นส่วนขยายและเพิ่มเติมต่อจาก พิธีสารเกียวโตปี พ.ศ. 2540 เพื่อกำหนดมาตรการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ เนื่องจากพิธีสารเกียวโตนั้นมีข้อจำกัดไม่สามารถแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างเต็มที่ โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ.2559 หลังมีประเทศภาคีร่วมให้สัตยาบันเกิน 55 ประเทศ และมีระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันมากกว่า 55 เปอร์เซ็นต์ของโลก นับจากนั้นเป็นต้นมา มีประเทศต่างๆ เข้าร่วมข้อตกลงนี้เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันมีประเทศภาคีสมาชิกร่วมลงนามในความตกลงปารีสแล้วทั้งสิ้น 197 ประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย


🚩สาระสำคัญของความตกลงปารีส

🍀 มุ่งเน้นให้ประเทศภาคีเกิดการเสริมสร้างการตอบสนองต่อภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในศตวรรษนี้ให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม และพยายามรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ครอบคลุมในเรื่องของการลดก๊าซเรือนกระจก


🍀 การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Adaptation) โครงสร้างทางการเงิน (Climate Finance) กลไกการสร้างความโปร่งใส (Transparency) การทบทวนการดำเนินงานระดับโลก (Global Stocktake)


🍀 การให้การสนับสนุนในด้านต่างๆ ทั้งในด้านการพัฒนาและการถ่ายทอดเทคโนโลยี การเสริมสร้างศักยภาพของประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งรวมถึงทางการเงิน โดยประเทศภาคีต้องมีข้อเสนอการดำเนินการที่เรียกว่า Nationally Determined Contribution (NDC) ของประเทศทุก ๆ 5 ปี

โดยประเทศภาคี แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มภาคผนวกที่ 1 ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และกลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มประเทศนอกกลุ่มภาคผนวกที่ 1 ซึ่ง เป็นประเทศกำลังพัฒนา


🚩COP27 สำคัญอย่างไร

Germanwatch หน่วยงานที่ติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ได้เปิดเผยข้อมูลปี พ.ศ. 2563 พบว่า ทั่วโลกมีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 33,805 ล้านตัน โดยประเทศไทยติดอันดับ 24 ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 258 ล้านตัน หรือ 0.76% แม้ไทยจะสร้างผลกระทบไม่ถึง 1% แต่กลับเป็นประเทศที่เสี่ยงจะได้รับผลกระทบมากที่สุดเป็นอันดับ 9 ของโลก เนื่องจากก๊าซเรือนกระจกมีคุณสมบัติในการดูดคลื่นความร้อน ห่อหุ้มชั้นบรรยากาศ ทำให้รู้สึกว่ายิ่งอายุมากขึ้น ทำไมอุณหภูมิของโลกร้อนขึ้นเรื่อยๆ นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า หากไม่ทำอะไรตอนนี้ โลกจะประสบกับภูมิอากาศที่ร้อนขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส โลกทั้งโลกจะเข้าสู่ภาวะวิกฤติ ดังที่ได้เห็นจากข่าวภัยพิบัติต่างๆ ทั่วโลก


🚩ความร่วมมือของไทยในการประชุม COP27

วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ.2565 โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กรอบท่าทีเจรจาของไทยเป็นไปตามหลักการของอนุสัญญาฯ และความตกลงปารีส สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ นโยบายและแผนของประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยประเทศไทยได้จัดทำและปรับปรุงเอกสารยุทธศาสตร์ระยะยาวเเละการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (National Determined Contribution : NDC) ดังนี้


1. ยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ ฉบับปรับปรุง


• เป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด เดิม พ.ศ. 2573 เป็น พ.ศ. 2568 (เร็วขึ้น 5 ปี)


• เป็นกลางทางคาร์บอน เดิม พ.ศ. 2608 เป็น ภายในปี พ.ศ. 2593 (เร็วขึ้น 15 ปี)


• ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ เดิม พ.ศ. 2643 เป็น ภายในปี พ.ศ. 2608 (เร็วขึ้น 35 ปี)


2. การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 มีการแก้ไขเป้าหมายในระยะสั้นให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ระยะยาวฯ เช่น เป้าหมายก๊าซเรือนกระจกลดลง ร้อยละ 30-40 จากกรณีปกติ ภายในปี พ.ศ. 2573


🚩รู้หรือไม่ Doha Amendment คือข้อตกลงที่ทำให้เกิดพันธกรณีที่ 2 ของพิธีสารเกียวโต (หรือเรียกว่า Kyoto II) เกิดขึ้นในการประชุมสมัยที่ 18 ของการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาฯ (COP18) ที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ในปี พ.ศ. 2555 มีระยะเวลาผูกพันระหว่างปี พ.ศ. 2556 ถึง 2563 เเต่พิธีสารนี้ไม่เคยถูกบังคับใช้ เนื่องจากไม่ได้ให้สัตยาบันตามจำนวนประเทศสมาชิกที่ต้องการ


🚩ที่มาของข้อมูลเเละรูปภาพ:










---------------------------------------------------

ติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางต่างๆ ได้ที่


 
 
 

Comments


Post: Blog2_Post

NET ZERO TECHUP

  • Facebook
  • Instagram
  • YouTube

©2022 by Net Zero Techup

bottom of page