top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนNet Zero Techup

คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) และตลาดคาร์บอน (Carbon Market) คืออะไร

อัปเดตเมื่อ 5 มี.ค. 2566


ตลาดคาร์บอน คือ ตลาดซื้อขาย “คาร์บอนเครดิต” และ “ใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก” ซึ่งคาร์บอนเครดิต หมายถึง “ปริมาณสุทธิของก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงได้” มีหน่วยเป็น “ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า”

ตลาดคาร์บอน หรือ ตลาดซื้อขายคาร์บอน เป็นมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกแบบหนึ่งที่แนวคิดของกลไกการซื้อขายใบอนุญาตการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นเครื่องมือสร้างแรงจูงใจในการลดก๊าซเรือนกระจกโดยกำหนด “สิทธิ” ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ให้เป็นสินค้าสำหรับการซื้อขายได้ทำให้เกิดเป็นตลาดคาร์บอนขึ้น นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดการกำหนดราคาของคาร์บอนเครดิต ซึ่งตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แล้วกลไกตลาดดังกล่าวจะทำให้ต้นทุนของการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำที่สุด ตลาดคาร์บอนมี 2 ประเภท ได้แก่

1) ตลาดคาร์บอนตามกฎหมาย (Mandatory Carbon Market) หรือ ตลาดภาคบังคับ คือตลาดคาร์บอนที่จัดตั้งขึ้นสืบเนื่องจากผลบังคับในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามกฎหมาย ซึ่งต้องมีรัฐบาลเข้ามาเกี่ยวข้องในฐานะผู้ ออกกฎหมายและเป็นผู้กำกับดูแลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยผู้ที่เข้าร่วมในตลาดจะต้องมีเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีผลผูกพันตามกฎหมาย อย่างไรก็ดีผู้ ที่ไม่สามารถปฏิบัติตามเป้าหมายที่ตั้งไว้จะถูกลงโทษหรือไม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับการบัญญัติกฎหมาย ดังนั้นตลาดคาร์บอนแบบภาคบังคับสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ การกำหนดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบมีบทลงโทษแก่ผู้ที่ไม่สามารถปฏิบัติตามเป้าหมายได้ และการกำหนดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ไม่มีบทลงโทษ แต่จะมีสิ่งจูงใจให้ผู้ที่ทำได้ดีกว่าเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้

2) ตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจ (Voluntary carbon market) คือ ตลาดคาร์บอนที่ถูกสร้างขึ้นโดยไม่ได้มีกฎหมายที่เกี่ยวกับการควบคุมก๊าซเรือนกระจกมาบังคับ การจัดตั้งตลาดมักเกิดจากความร่วมมือกันของผู้ประกอบ การในภาคเอกชน ผู้ที่เข้าร่วมซื้อขายในตลาดนั้นจะยินดีเข้าร่วมด้วยความสมัครใจ โดยอาจจะมีการตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเองโดยสมัครใจ แต่ไม่ได้มีผลผูกพันตามกฎหมาย ซึ่งอาจซื้อขายผ่านกลไกตลาดที่ตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ หรือซื้อขายในระบบทวิภาค (Over-the-counter: OTC) ซึ่งไม่มีระบบการซื้อขายแลกเปลี่ยนที่ชัดเจนมีเพียงการตกลงกันระหว่างผู้ต้องการซื้อและผู้ขาย ซึ่งทำให้มีต้นทุนในการจัดการต่ำกว่าและดำเนินการได้ง่ายกว่า อย่างไรก็ตาม เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอาจถูกกำหนดโดยผู้กำกับดูแลตลาด หรือเป็นการตั้งเป้าหมายโดยสมัครใจของภาคเอกชนก็ได้


คาร์บอนเครดิตจะได้มาอย่างไร

คาร์บอนเครดิตได้จากการทำโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับโครงการ (Project Based) เช่น โครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ โครงการผลิตพลังงานความร้อนโดยใช้เชื้อเพลิงชีวมวล โครงการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน โครงการปลูกป่าไม้และอนุรักษ์ป่าไม้ เป็นต้น โดยเริ่มต้นจากผู้พัฒนาโครงการหรือเจ้าของโครงการจะต้องเลือกว่าจะดำเนินโครงการตามมาตรฐานใด เช่น ตามแนวทาง GHG Protocol for Project Accounting, ISO 14064-2 หรือถ้าต้องการนำคาร์บอนเครดิตไปขายในตลาดทางการก็จะต้องดำเนินโครงการตามหลักเกณฑ์ของกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM) หรือถ้าขายในตลาดภาคสมัครใจก็เลือกมาตรฐานต่างๆ ที่อยู่ในตลาดภาคสมัครใจ เช่น โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานสากล ซึ่งปัจจุบันทั่วโลกมีอยู่ประมาณ 16 มาตรฐาน อาทิเช่น Gold Standard, Verified Carbon Standard (VCS), CCB Standard, Plan Vivo เป็นต้น

จากนั้นผู้พัฒนาโครงการจะต้องดำเนินโครงการตามวิธีของมาตรฐานที่เลือกหรือขึ้นทะเบียนไว้ ซึ่งจะต้องมีการจัดเตรียมข้อเสนอโครงการ ตรวจสอบความใช้ได้ของโครงการ ติดตามผลการดำเนินโครงการ ซึ่งผู้พัฒนาโครงการอาจจะดำเนินเองหรือจ้างที่ปรึกษา และต้องผ่านกระบวนการทวนสอบจากหน่วยงานตรวจสอบที่เป็นบุคคลที่ 3 (Third Party) ในที่นี้เรียกว่า หน่วยงานปฏิบัติการในการตรวจสอบ (Designated Operational Entity: DOE) ซึ่ง DOE จะส่งผลการทวนสอบให้คณะกรรมการเทคนิคของมาตรฐานนั้นๆ พิจารณาและรับรอง ผลคาร์บอนเครคิตให้กับผู้พัฒนาโครงการเมื่อได้รับรองผลคาร์บอนเครดิตแล้ว ผู้พัฒนาโครงการจึงสามารถจะนำเครดิตนี้ไปขายได้

ใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะได้มาอย่างไร

ใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่อนุญาตให้ปล่อยได้ภายใต้ระบบการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading Scheme: ETS) ซึ่งเป็นกลไกประเภท “Site Based” หรือ “Facility Based” ในระดับองค์กรที่ใช้กำกับดูแลผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ของประเทศ ให้ลดก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้

ระบบการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกเริ่มจากเจ้าของระบบ (ส่วนใหญ่เป็นภาครัฐ) กำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่เป็นระดับเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเมื่อเทียบกับปีฐาน ซึ่งสามารถคำนวณกลับไปเป็นปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สามารถปล่อยได้ที่เราเรียกว่า “ใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ Allowance” หลังจากนั้นรัฐบาลจะ “จัดสรรใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ Allowance Allocation” ให้ กับโรงงาน/องค์กรต่างๆ ที่อยู่ในระบบ เพื่อกำหนดระดับเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแต่ละโรงงาน/องค์กร โดยแต่ละโรงงาน/องค์กรจะไม่สามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เกินกว่าจำนวนใบอนุญาตที่ได้รับจัดสรรในแต่ละปี และต้องมีการติดตามผลและรายงาน (Monitor and Reporting) รวมถึงต้องมีการทวนสอบ (Verification) ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนจกที่ปล่อยออกมาจากโรงงาน/องค์กรในแต่ละปีว่าเป็นไปตามเงื่อนไขในการจัดสรรใบอนุญาตหรือไม่

เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาของระบบการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในแต่ละปีโรงงาน/องค์กรต่างๆ ต้องคืนใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับจัดสรรมาจากรัฐบาลตามปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมา (หรือที่เรียกว่า Surrender) หากโรงงาน/องค์กรปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการจัดสรร ก็สามารถฝาก (Banking) ใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกไว้สำหรับใช้ปีถัดไปได้ หรืออาจขายให้แก่โรงงาน/องค์กรอื่นที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินกว่าใบอนุญาตที่ได้รับก็ได้ ทั้งนี้หากโรงงาน/องค์กรใดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับจัดสรร ก็ต้องทำการซื้อใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากโรงงาน/องค์กรอื่นๆ ภายใต้ระบบ ETS เดียวกัน หรืออาจซื้อ “เครดิตชดเชย (Offset Credit)” จากโครงการลดก๊าซเรือนกระจกประเภท Project Based ตามมาตรฐานต่างๆ ที่ระบบ ETS นั้นๆ อนุญาตให้ซื้อมาคืน เพื่อชดเชย ใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่โรงงานปล่อยเกินจากที่ได้รับการจัดสรร ซึ่งจะคล้ายกับ “การซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ (Stock Exchange)” กล่าวคือ ราคาใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะแปรผันตามอุปสงค์และอุปทานที่มีอยู่ในตลาด

การซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย

ปัจจุบันนี้ตลาดซื้อขายคาร์บอนในประเทศไทยเป็นลักษณะตลาดภาคสมัครใจ โดยมีรูปแบบการซื้อขายที่เป็นการเจรจาต่อรองระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายโดยตรง (OTC) และส่วนใหญ่เป็นการซื้อขายในตลาดแรกมากกว่าตลาดรอง โดยผู้ที่ต้องการซื้อขายจะต้องยื่นขอเปิดทะเบียนบัญชีซื้อขายคาร์บอนเครดิตกับอบก.เสียก่อน และหลังจากการซื้อขายและชำระเงินเกิดขึ้นแล้ว ทางอบก.จะถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตจากบัญชีผู้ขายไปยังผู้ซื้อ ก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนการนำคาร์บอนเครดิตไปใช้งานหรือกิจกรรมชดเชยคาร์บอนต่อไป นอกจากนั้น ผู้ซื้อและผู้ขายคาร์บอนเครดิตสามารถซื้อขายได้ผ่าน Carbon Markets Club ซึ่งเป็นศูนย์กลางการซื้อขายคาร์บอนเครดิตและใบรับรองการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate - REC) ภายใต้การก่อตั้งของกลุ่มบางจากฯ และพันธมิตร

นอกจากนี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และเครือข่ายพันมิตร กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาเเพลตฟอร์มการซื้อขายพลังงานสะอาดเเละคาร์บอนเครดิต (RE & CC Exchange Platform) ซึ่งจะเป็นศูนย์ซื้อขายใบรับรองพลังงานสะอาดและคาร์บอนเครดิตหลักของประเทศไทย ทั้งนี้ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถส่งคำสั่งซื้อและขายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ แล้วระบบจะทำการเรียงลำดับและจับคู่คำสั่งซื้อขายให้โดยอัตโนมัติ โดยสามารถซื้อขายได้ 4 มาตรฐาน คือ T-VER, VERRA, Gold Standard และ I-REC ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มใช้งานได้ภายในปี 2565 นี้

ที่มาของข้อมูลเเละรูปภาพ:






---------------------------------------------------

ติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางต่างๆ ได้ที่



ดู 330 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


Post: Blog2_Post
bottom of page